Skip to main content

ลอง IF 22.5/1.5 แล้วกินแบบพอดีๆ ไม่แน่นจนจุก

Submitted by krishrong on

เนื่องจากปกติจะกินอาหารแบบ วันละมื้อเดียว โดยจำกัดช่วงเวลาการกินไว้ที่ 1 ชมครึ่ง แล้วช่วงเวลาที่เหลือ จะเป็นการอดไม่กินอะไรอีก จึงทำให้พยายามยัดให้ได้มากที่สุด เพราะกลัวว่าจะไม่พอ ซึ่งปัญหาที่พบคือ แน่นท้อง และ ไม่มีสมาธิอ่านหนังสือ จึงเป็นที่มาของการทดลองต่างๆนี้...

หลังจากเมื่อวาน ที่ได้ทดลอง "อดในมื้อเช้า แล้วมากินมื้อเย็น" แล้วพบว่าไม่ได้ผลแตกต่างจาก "กินมื้อเช้า แล้วอดหลังเที่ยง" เท่าไหร่ ก็สมองตื้อพอๆกัน

แต่สิ่งที่ทำในวันนี้ก็คือ วิ่ง แล้ว กลับมากินมื้อเช้า แต่ในมื้ออาหาร จะพยายามจำกัดปริมาณอาหารลงไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้แน่นจนจุก และล้นแบบที่เคยทำ โดยกินให้พออิ่ม ปริมาณรวมอยู่ที่ประมาณ 90 บาท(อันนี้ไม่รวมอาหารที่ไม่ให้พลังงานนะ เช่น ผลไม้ น้ำดื่ม อีก 30 บาท)

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กลับกลายเป็นว่า มีสมาธิ อ่านหนังสือได้ดีขึ้น ที่เคยอ่านไม่รู้เรื่อง ก็กลับกลายเป็นเริ่มแตกฉาน จับประเด็นได้ คิดอะไรดีๆออกได้ทั้งวัน ทำให้ได้ข้อสันนิษฐาน ดังนี้

  1. แม้จะกินมื้อเดียว แต่ก็ห้ามกินเยอะจนจุก หรือแน่น เป็นอันขาด(ที่ผ่านมากินแบบนี้) เพราะ มันจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานยากขึ้น(กระเพาะคราก คือ  กระเพาะขยายตัวมากเกินไป จนกล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัวกลับได้ตามปกติ) ส่งผลให้ย่อยอาหารช้าลง โดยอาจจะย่อยนานกว่ากิน 2 มื้ออีก (เผลอๆอาหารจะตกค้างอยู่ในกระเพาะทั้งวัน) อีกทั้ง เลือดต้องไปเลี้ยงระบบย่อยอาหารทั้งวัน แทนที่จะไปเลี้ยงสมอง 
    ซึ่งจะทำให้ ไม่ได้ทั้ง ประโยชน์จากการ Fasting เท่าที่ควร(ใช้เวลาย่อยนาน ก็ไม่ต่างจากกินหลายมื้อ) แถม สมองก็ตื้อ มึนๆอึนๆทั้งวัน เพราะ เลือดไม่ไปเลี้ยงอีก
  2. ถ้าใช้พลังงานเยอะ ให้ทำ IF แบบ 18/6 ดีกว่า โดยแบ่งกินเป็น 2 มื้อ อย่ายัดทั้งหมดลงมื้อเดียวใน 23/1 เพราะ อาหารมันจะไม่ย่อย หรือย่อยช้ากว่า และ ประโยชน์มันจะลดลง จนน้อยกว่าแบบ 18/6 เสียอีก
  3. การกินที่พอดีๆ ที่ไม่เกินกำลังของระบบย่อยอาหาร คือ กินแค่พออิ่ม ถ้าเริ่มอิ่มให้หยุด เคยอ่านพระไตรปิฎก จะเป็นเรื่องของ โภชเนมัตตัญญุตา คือ กินให้เพียงพอต่อกำลังที่ต้องใช้เท่านั้น
    •              ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณา โดยอุบายอันแยบคายแล้ว ฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความลำบาก แห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนา ใหม่เกิดขึ้น และความดำเนินของเรา ความที่เราไม่มีโทษ ความอยู่สบายของเราจักมี ดังนี้ อย่างเดียวเท่านั้น พิจารณาอาหารเปรียบด้วยน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียน ผ้าสำหรับปิดแผล และเนื้อบุตร (ของคนที่เดินทางกันดาร) ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา ย่อมไม่ทำลายโภชเนมัตตัญญุตาอันเป็นเขตแดนในภายใน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุด รอบ คือโภชเนมัตตัญญุตา.
  4. เรื่องของการวิ่งในช่วงเช้า(วิ่งก่อนกินอาหาร) คิดว่าไม่น่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะ โดยส่วนมากการวิ่ง จะให้ผลในเรื่องของสมองที่ดี ในช่วง 2 ชม หลังจากวิ่งเท่านั้น แต่ที่เกิดขึ้น คือ สมองดีทั้งวัน (*อาจยังต้องสังเกตต่อไป)
  5. อาจจะมีอีกเรื่อง คือ เมื่อวานเพิ่งกินข้าวเย็น แล้ววันนี้กินข้าวเช้าต่อ 
    1. มันเหมือนเป็นการหลอกร่างกายว่า มีอาหารเพียงพอ และ ทำให้ร่างกายกลับมาใช้อัตรา Metabolism ที่สูงขึ้น หรือเปล่า เลยทำให้ IF ได้ผลดีขึ้น แต่จริงๆก็คิดว่าไม่เกี่ยว เพราะ ถ้าจะให้ Fasting ได้ผล ต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ 8 ชม. หลังอาหารมื้อสุดท้ายเป็นต้นไป แต่ที่เกิดขึ้น คือ สมองดีทั้งวัน(ก่อนกิน หลังกิน ก็ยังสมองดีอยู่)
    2. หรือว่า ที่ผ่านมาร่างกายไม่ได้รับอาหารเพียงพอ แล้วพอได้กินอาหารติดต่อกัน เลยมีพลังงานไปอ่านหนังสือได้ ซึ่ง คิดว่าไม่น่าใช่ เพราะ ปริมาณที่กินในอดีต แม้จะกินมื้อเดียว แต่เยอะมากจนสามารถไปวิ่งทุกวัน วันละ 3-4 กิโลเมตรได้ แถมล่าสุด Fasting 30 ชม. แล้วยังเดินต่อได้อย่างกระฉับกระเฉง อีกเกือบชั่วโมง ดูไม่น่าจะขาดพลังงานนะ แต่เหมือนพลังงานจะล้น จนไม่มีสมาธิอ่านหนังสือมากกว่า(*อาจยังต้องสังเกตต่อไป)
  6. *  ไม่ว่าจะใช้การ IF วิธีไหน วิธีสังเกตตัวเองว่าพลังงานของเรายังเพียงพอหรือไม่ ก็น่าจะเป็นการลองออกไปเดินเล่น ถ้ายังมีแรงเดินชิวๆ มากกว่า 30 นาที อันนี้แสดงว่ายังมีพลังงานเหลือ แต่ถ้าเดินแล้วรู้สึกไม่มีแรง อันนี้ก็กินเพิ่มอีกมื้อน่าจะดีกว่า โดยหลักๆ พยายามกินให้พอดีไม่มากเกินไป หรือ ไม่น้อยเกินไป
    นอกจากนี้ ควรมีที่ชั่งน้ำหนัก เพื่อดูน้ำหนักตนเองด้วย ว่าลดลงเยอะไปไหม บางทีความเคยชินอาจทำให้ไม่รู้สึกอะไร แต่น้ำหนักอาจจะลดลงมากเกินไปแล้วก็ได้

สรุปว่า สิ่งที่จะทำต่อหลังจากนี้ คือ กินวันละมื้อ ในช่วงเช้า โดยกินแบบแค่พออิ่ม ไม่กินจนล้นจุกเป็นอันขาด แล้วดูผลลัพธ์ ว่าดีเหมือนกันทุกวันไหม

Add new comment

The content of this field is kept private and will not be shown publicly.

Plain text

  • No HTML tags allowed.
  • Lines and paragraphs break automatically.
  • Web page addresses and email addresses turn into links automatically.